พฤติกรรมเสี่ยงไฟใหม้บ้านหน้าร้อน

หน้าร้อนต้องระวัง...พฤติกรรมเสี่ยงทำไฟไหม้บ้าน ป้องกันไว้ก่อนไม่เหลืออะไร !


กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย แนะวิธีป้องกันไฟไหม้บ้านจากสาเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากความประมาทเลินเล่อของผู้อยู่อาศัย 
          อากาศที่ร้อนระอุในช่วงนี้ทำให้เกิดไฟไหม้ได้ง่ายมาก บ่อยครั้งที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อ จนเกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมาย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ขอแนะสาเหตุและวิธีป้องกันไฟไหม้บ้าน เพื่อความปลอดภัยของทุกครัวเรือน ถ้าไม่อยากให้บ้านของเราเป็นหลังต่อไปที่เกิดเพลิงไหม้จากความประมาทของตัวเองก็อย่าลืมทำตามคำแนะนำกันนะคะ 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแนะประชาชนเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงไฟไหม้...ป้องกันไฟลุกลาม
          กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีป้องกันเพลิงไหม้จากสาเหตุต่าง ๆ โดยตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัย ปิดสวิตช์ไฟและถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังใช้งาน ไม่เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดกับรางปลั๊กไฟสายพ่วงเดียวกัน ใช้ปลั๊กไฟแบบถาวรที่ติดผนังกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าตลอดเวลา รวมถึงติดตั้งระบบป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร หมั่นตรวจสอบถังก๊าซและเตาแก๊สให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัย เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบอาหาร ดับไฟก้นบุหรี่ให้สนิทก่อนทิ้ง เลือกใช้กระถางธูปหรือเชิงเทียนที่เป็นภาชนะทนไฟ รวมถึงดับธูปเทียนให้สนิททุกครั้งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้   

          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ฤดูร้อนเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง ซึ่งบ่อยครั้งมีสาเหตุจากความประมาทสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีป้องกันเพลิงไหม้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้ 

1. เพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร 
          - ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัย เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน สายไฟฟ้าและฟิวส์มีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้า 
          - ปิดสวิตช์ไฟและถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังใช้งาน ไม่เปิดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์เป็นเวลานาน เพราะทำให้เกิดความร้อนสะสม ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้ 
          - ไม่เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดกับรางปลั๊กไฟสายพ่วงเดียวกัน เพราะสายไฟจะเกิดความร้อนสูงจนละลาย ส่งผลให้ไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ได้ 
          - ใช้ปลั๊กไฟแบบถาวรที่ติดผนังกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าตลอดเวลา อาทิ ตู้เย็น เครื่องทำน้ำเย็น เพื่อป้องกันสายไฟเกิดความร้อนสูง ทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ได้ 
          - ติดตั้งระบบป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและอุปกรณ์ป้องกันเพลิงไหม้ โดยจัดวางถังดับเพลิงบริเวณพื้นที่เสี่ยงเพลิงไหม้ในจุดที่หยิบใช้งานสะดวก รวมถึงหมั่นตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ 


2. เพลิงไหม้จากก๊าซหุงต้มรั่วไหล 
          - หมั่นตรวจสอบถังก๊าซและเตาแก๊สให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยจัดวางถังก๊าซในแนวตั้งบนพื้นราบที่แข็งแรง บริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก สายยางท่อนำก๊าซ ข้อต่อ และวาลว์ถังก๊าซไม่มีรอยรั่ว เพื่อป้องกันก๊าซรั่วไหลที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ 
          - เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบอาหาร ไม่อุ่นอาหารทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ดูแล ปิดวาล์วถังก๊าซและเตาแก๊สทุกครั้งหลังใช้งาน อีกทั้งไม่วางวัสดุที่ติดไฟง่ายใกล้เตาแก๊ส เพื่อป้องกันเพลิงไหม้ 


3. เพลิงไหม้จากความประมาท  
          - ดับไฟก้นบุหรี่ให้สนิทก่อนทิ้ง โดยทิ้งในถาดทรายหรือที่เขี่ยบุหรี่ ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้นบ้านและวัสดุติดไฟง่าย โดยเฉพาะพื้นพรม เสื่อ ผ้าม่าน เฟอร์นิเจอร์ที่บุด้วยผ้า และพงหญ้าแห้ง 
          - เลือกใช้กระถางธูปหรือเชิงเทียนที่เป็นภาชนะทนไฟ อาทิ กระถางธูป ทองเหลืองหรือดินเผา เชิงเทียนที่มีฝาครอบปิด จะช่วยป้องกันไฟลุกลามไปติดวัสดุอื่น 
          - ดับธูปเทียนให้สนิททุกครั้ง ไม่จุดธูปเทียนทิ้งไว้โดยไม่มีคนดูแล รวมถึงไม่จุดธูปเทียนทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก เพราะทำให้เพลิงไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็ว 

          ทั้งนี้การเรียนรู้วิธีป้องกันเพลิงไหม้จากสาเหตุต่าง ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้            

 

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

รูปภาพจาก Kapoook.com